

เม็ดเลือดขาว ทหารภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
เลือดของคนเรานั้น ประกอบไปด้วย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในส่วนของเม็ดเลือดขาวนั้น เป็นส่วนสำคัญของภูมิคุ้มกันของร่างกาย(immune system)มีหน้าที่หลักในการกำจัดเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา หรือปรสิต รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย ซึ่งมี 4 ตัวที่สำคัญ ได้แก่
4 สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย
-
ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte)
พบมากในระบบน้ำเหลือง 20-40% แบ่งออกเป็น
- เซลล์บี (B-Cell) กำจัดเชื้อโรคต่างๆ พร้อมจดจำเชื้อโรค เมื่อเจอเชื้ออีกครั้งจะสร้างพิษ (แอนติบอดี้) ต่อต้านและเรียกให้เม็ดเลือดขาวตัวอื่นๆมาจัดการ
- เซลล์ที (T-Cell) มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคร่วมกับ B-Cell
-
แมคโครฟาจ (Macrophage)
ถูกเปลี่ยนมาจากโมโนไซต์ ปกติแล้ว โมโนไซต์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด และจะเปลี่ยนเป็นแมคโครฟาจทันที เมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด สมอง ตับ และไต ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
-
เอนเคเซลล์ (NK Cell)
ทำลายเชื้อไวรัส เซลล์มะเร็งโดยไม่ต้องรอส่งสัญญาณ สามารถจัดการทันที
-
เดนไดตริกเซลล์ (Dendritic Cell)
พบในเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ผิวหนัง (เรียกว่า เซลล์ลังเกอร์ฮันส์) และที่เยื่อบุจมูก บุปอด บุท้อง และบุลำไส้ มีหน้าที่จับแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอม (antigen-presenting cell) แล้วนำไปที่ผิวของเซลล์เอง เพื่อเรียกเซลล์ที (T-Cell)ของระบบภูมิคุ้มกัน มาจัดการ
เม็ดเลือดขาวของเรานั้นจะถูกสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ภายในไขกระดูก แล้วสะสมอยู่ทีไขกระดูก ม้ามและต่อมน้ำเหลืองโดยปกติคนเราจะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมดทุกชนิดรวมกัน(total white blood cell count)อยู่ที่ประมาณ 4,500– 10,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร (4,500– 10,000/mm3) ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำเกินไปหรือสูงเกินไปย่อมไม่ดีต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตามอาจมีภาวะที่ส่งผลต่อจำนวนเม็ดเลือดขาวดังต่อไปนี้
ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
-
สาเหตุ คือ
การติดเชื้อไวรัส มักทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ แต่การติดเชื้อแบคทีเรียมักทำให้เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น การได้รับยาและสารเคมีบางชนิด ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งอื่นๆที่มีการแพร่กระจายในไขกระดูก โรคไขกระดูกฝ่อ ภาวะขาดวิตามินบี12 หรือกรดโฟลิก เป็นต้น
-
อาการของผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ
เช่น คลำได้ก้อน ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโตในโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือมีอาการผื่นแพ้แสง ปวดข้อ ในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
-
การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวต่ำ
ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่มาก มักไม่แสดงอาการที่สามารถสังเกตได้ จะต้องตรวจเลือดเท่านั้น ด้วยวิธีการตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) ทั้งนี้ เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปจะมีระดับเม็ดเลือดขาวดังนี้
- แรกเกิด-1 เดือน 5,000-34,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุ 2-5 เดือน 5,000-15,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุ 6 เดือน-1 ปี 6,000-11,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุ 1-12 ปี 6,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุ 3-5 ปี 4,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุ 6-11 ปี 3,400-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
- อายุมากกว่า 12 ปี 3,500-10,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร
โดยหากผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 3,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
หรือมีปริมาณเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำกว่า 1,900 เซลล์ต่อไมโครลิตร
แพทย์อาจระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และหากต่ำว่า 1,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆรอบตัวได้มากกว่าคนทั่วไป แพทย์จะหาทางรักษาต่อไป เช่น ให้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว ยาฆ่าเชื้อหากพบการติดเชื้อ
-
การปฏิบัติตัวหากพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ทานอาหารที่สะอาด กินร้อน ช้อนกลาง
- งดอาหารหมักดอง อาหารดิบ โยเกิร์ต น้ำผลไม้สดที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ
- หากจะทานผักสด ควรล้างให้สะอาด ส่วนผลไม้สด แนะนำ ส้มโอ หรือกล้วย เพราะมีคุณค่าและย่อยง่าย
- ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเจอผู้คนหรือในที่ชุมชนแออัด
- ออกกำลังกายตามความเหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง
- งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะดีขึ้น
- หากมีไข้สูง หนาวสั่น ควรรีบพบแพทย์
ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง
-
สาเหตุ คือ
ติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่เกี่ยวกับไขกระดูก โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการแพ้อย่างรุนแรง โรคหอบหืด ภูมิแพ้ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาควินิดีน (Quinidine) ยาเฮพาริน (Heparin) ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และยาโคลซาปีน (Clozapine) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การสูบบุหรี่ ความเครียด วัณโรค
-
อาการของผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวสูง
เช่น ไข้สูง มีเลือดออกหรือรอยฟกช้ำง่าย รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย หรือไม่สบาย รู้สึกหน้ามืด มีอาการคล้ายเป็นลม น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีความอยากอาหารลดลง
-
การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวสูง
แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย จากนั้นจะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น
-
การปฏิบัติตัวหากพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวสูง
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้หลากสี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เพื่อช่วยต้านการอักเสบในร่ากงาย
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์4ขา เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทอด เครื่องดื่มน้ำตาลสูง
- ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสม เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ทานอาหารที่สะอาด กินร้อน ช้อนกลาง
ทั้งนี้หากพบว่าระดับเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่าค่าอ้างอิงในแต่ละช่วงอายุ (ด้านบน) แพทย์จะหาสาเหตุและแนวทางในการรักษาต่อไป
ดังนั้น หากเม็ดเลือดขาวต่ำไป หรือสูงไปร่วมกับมีอาการดังกล่าว(กล่าวไว้ในหมวดอาการของแต่ละภาวะ) ควรรีบมาพบแพทย์