

พีเอ็ม 2.5 ฝุ่นมรณะ
อาจจะมีบางวันที่คุณเห็นท้องฟ้าไร้ดวงอาทิตย์ มีเพียงฟ้าหม่นสีเทาที่เป็นต้นเหตุให้ตึกที่ตั้งอยู่ไกล ๆ หายไปจากสายตา ยามอยู่บนถนน รถที่วิ่งข้างหน้าก็กลายเป็นภาพเบลอกว่าที่เคย โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปกคลุมรอบตัวเรานั้นคือหมอกหรือฝุ่นกันแน่ “ไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี ไม่รู้สึกไม่ใช่ไม่อันตราย” เป็นวลีที่ใช้อธิบายมลภาวะทางอากาศพีเอ็ม 2.5 ได้เป็นอย่างดี
พีเอ็ม 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงในประเทศไทยต่อเนื่องมาหลายปี ในปีแรก ๆ ปัญหานี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ก่อนที่กระแสสังคมจะเริ่มซาลงเพราะผู้คนชินชากับปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงมกราคมถึงเมษายนซึ่งเป็นฤดูเผาพืชไร่ของแต่ละปี จริงอยู่ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทั้งประชาชน รัฐ เอกชน รวมถึงนานาประเทศในภูมิภาคเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา
ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่อาจแก้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ในระหว่างนี้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ไม่ใช่การปรับตัวให้ชิน แต่ต้องเข้าใจความอันตรายของพีเอ็ม 2.5 แล้วป้องกันตัวเองและคนที่รักให้ดีที่สุด เพราะฝุ่นจิ๋วนี้คือพิษร้ายที่เป็นระเบิดเวลาคอยทำลายสุขภาพของเราทุกคน
สาเหตุที่ฝุ่นมรณะขนาดจิ๋วถูกเรียกว่าพีเอ็ม 2.5
เพราะชื่อภาษาอังกฤษของมันคือ particulate matter และถูกย่อให้เหลือตัวอักษรตัวแรกของทั้งสองคำคือ PM ส่วนตัวเลข 2.5 มีที่มาจากการที่ฝุ่นเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรซึ่งเล็กกว่าเส้นผมของคนเราถึง 30 เท่า
พีเอ็ม 2.5 มีที่มาได้จากหลายแหล่ง
เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอย่างถ่านหิน ถ่านลิกไนต์ น้ำมัน รวมถึงพลังงานชีวภาพ นอกจากนั้นกิจกรรมที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันอย่างการก่อสร้าง ทำถนน หรือแม้การประกอบอาหารปิ้งย่างที่ทำให้เกิดควันก็ก่อให้เกิดพีเอ็ม 2.5 ได้เช่นกัน
ดังนั้นส่วนประกอบของพีเอ็ม 2.5 จึงมีความหลากหลายตามที่มาและสารเคมีที่มีการใช้ในพื้นที่นั้น ๆ มีการศึกษาว่าสารเคมี สารก่อภูมิแพ้ และเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอนุภาคพีเอ็ม 2.5 มีมากมายกว่าร้อยชนิดเลยทีเดียว และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พีเอ็ม 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึม แทรก และเข้าไปในร่างกายของเราได้ทั่วไปหมด ไม่ว่าจะหายใจเข้าไปในปอด ทะลุผ่านเข้าไปทางผิวหนัง และแม้แต่เข้าไปในกระแสเลือด
เนื่องจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก่อให้เกิดการระคายเคือง เกิดอนุมูลอิสระ และเหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบในร่างกาย บางอาการก็เห็นได้ชัดทันทีในวันที่มีฝุ่นมาก เช่น การหายใจเอาพีเอ็ม 2.5 เข้าไปทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้มีอาการแย่ลง สังเกตได้จากการมีน้ำมูก คันคอ คันจมูก คันตา หายใจไม่สะดวก บางคนก็มีอาการคันตามผิวหนัง ผื่นขึ้น ผิวเกิดการอักเสบและระคายเคือง เพราะสารพิษในพีเอ็ม 2.5 ไปรบกวนโครงสร้างและการทำงานของผิวหนัง
ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือผลของพีเอ็ม 2.5 จะสะสมในร่างกายจนเป็นผลร้ายต่อระบบต่าง ๆ ได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น ทำให้ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดการอักเสบของหลอดเลือด เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจเฉียบพลัน หัวใจวาย มีผลต่อปอด ทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นแบบเฉียบพลัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้น และยังเป็นสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตกได้อีกด้วย
คนแต่ละคนมีการตอบสนองต่อพีเอ็ม 2.5 แตกต่างกัน
ผู้ใหญ่ที่ปกติเป็นคนสุขภาพฟิตปั๋งเป๊ะปัง ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่มีโรคประจำตัวอาจจะได้รับผลจากพีเอ็ม 2.5 น้อยหรือช้ากว่า ขณะที่คนที่สุขภาพไม่แข็งแรงมากนักหรือมีโรคประจำตัว เช่น เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากพีเอ็ม 2.5 ได้ชัดเจนมากกว่า
มีการศึกษาวิจัยว่าหญิงมีครรภ์ที่ได้สัมผัสกับพีเอ็ม 2.5 ระหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งเดือนสุดท้ายก่อนถึงกำหนดคลอดมีโอกาสสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักน้อย หรือตัวเล็กกว่าอายุจริง นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กในพื้นที่ที่มีพีเอ็ม 2.5 สูงมีสถิติการไปพบแพทย์ด้วยอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อที่ปอดมากกว่าในพื้นที่อื่น โดยพบอาการรุนแรงที่สุดหลังจากสัมผัสกับฝุ่น 3-4 วัน
ในช่วงที่พีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่ที่คุณอยู่มีค่าสูง
ควรหมั่นตรวจสอบดูค่าพีเอ็ม 2.5 ประจำวัน หากวันไหนที่ค่าสูงควรพยายามอยู่แต่ในตัวอาคาร ปิดหน้าต่าง-ประตูให้มิดชิด เปิดเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดฝุ่นที่อาจจะเล็ดลอดเข้ามาในอาคาร หากต้องออกไปข้างนอกให้ใส่หน้ากากที่ช่วยกรองพีเอ็ม 2.5 ได้ โดยเลือกหน้ากากที่แนบสนิทกับหน้าโดยไม่มีรูร่องให้ฝุ่นเข้าไปภายใต้หน้ากาก งดออกกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งใด ๆ ที่ทำให้เกิดการหายใจถี่และลึกขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการสูดดมพีเอ็ม 2.5 เข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
และควรรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามิอี และเบต้าแคโรทีน ทั้งนี้มีผลวิจัยยืนยันว่า การรับประทานน้ำมันปลาซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 อย่าง DHA (docosahexaenoic acid) และ EPA (eicosapentaenoic acid) ช่วยลดการอักเสบและภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ส่งผลต่อหัวใจและผิวหนังได้ นอกจากนั้น niacinamide ซึ่งพบมากในอาหารพวกปลา เห็ด และถั่วก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีฤทธิ์ปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระที่เกิดจากการกระตุ้นของพีเอ็ม 2.5 ในหลอดทดลองได้