บทความนี้มิได้เชิญชวนคุณผู้อ่านมา “ลอง” เป็นโควิด เพราะโควิดไม่ใช่โรคที่ควรมีประสบการณ์การเป็น แถมเมื่อหายจนร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสออกไปหมดแล้ว แต่ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบกับร่างกายในระยะยาวที่เรียกว่า “long COVID” ได้อีกด้วย
Long COVID คืออะไร อาการเหมือนโควิดไหม ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยง และเป็นแล้วจะเป็นนานแค่ไหน วันนี้เรามีคำตอบมาฝากค่ะ...


ความหมายของ long COVID คือ
ภาวะอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยหลังจากที่หายจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือเป็นโรคโควิด-19 แล้ว ซึ่งตามสถิติพบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยที่เป็นโควิด โดยทั่วไปผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงจะหายจากอาการต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 7-10 วัน และถึงจะมีอาการรุนแรงก็จะหายภายใน 3-6 สัปดาห์
แต่สำหรับคนที่เป็น long COVID จะมีอาการเรื้อรังนานกว่านั้น โดยถ้ามีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 12 สัปดาห์จะเรียกว่า “Post -acute COVID-19” ส่วนถ้ามีอาการนานกว่า 12 สัปดาห์จะนับว่าเป็น “Post COVID-19 syndrome”
อาการ long COVID
อาจเป็นอาการที่เคยเป็นอยู่แล้วในช่วงของการติดเชื้อและไม่หายสนิทเสียที หรือเป็นอาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้ โดยอาการที่พบบ่อยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย (58%) ปวดศีรษะ (44%) ขาดสมาธิ (27%) ผมร่วง (25%) และหอบเหนื่อย (24%) นอกจากอาการท็อปฮิตทั้ง 5 แล้ว อาการอื่น ๆ ที่พบก็มีความหลากหลาย และเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ เพราะเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิดเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์โดยการใช้ spike-like-protein จับกับ ACE-2 (angiotensin-converting-enzyme 2) receptor ซึ่งกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งในเนื้อเยื่อของปอด หัวใจ ตับ ไต และทางเดินอาหาร นั่นจึงเป็นสาเหตุที่โรคโควิด-19 ทำให้เกิดความผิดปกติได้ในหลายระบบของร่างกายพร้อม ๆ กัน
ในทำนองเดียวกันนั้น เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 อาการเรื้อรังของ long COVID ก็เกิดขึ้นได้กับหลายตำแหน่งของร่างกาย ตัวอย่างเช่น ไอ แน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจติดขัด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ นอนไม่หลับ เป็นผื่น ขี้ลืม ท้องเสีย รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามร่างกาย นอกจากนั้นยังมีอาการที่ส่งผลต่อสภาวะของจิตใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า และในบางคนอาจเกิดภาวะเครียดหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง (post-traumatic stress disorder, PTSD) ขึ้นได้
ซึ่งเหล่านั้นคืออาการแสดงที่ผู้ป่วยสามารถรู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่จริง ๆ แล้ว หากผู้ป่วยได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยการเจาะเลือด เอกซเรย์ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการและรังสีวินิจฉัยแบบอื่น ๆ อาจพบความผิดปกติและความเสียหายที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกาย เช่น ทำให้ผู้ป่วยมีพังผืดที่ปอด ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดอุดตัน ตับอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน รวมทั้งอาจพบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
การที่ผู้ป่วยโควิดจะเป็น long COVID หรือไม่ พบว่าไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรคในระยะที่มีการติดเชื้อ หรือเรียกได้ว่าถึงแม้จะเป็นโควิดแบบไม่รุนแรงก็มีสิทธิ์เป็น long COVID ได้เหมือนกัน นอกจากนั้นความเสี่ยงของการเป็น long COVID ยังไม่ขึ้นกับอายุและโรคประจำตัวที่เป็นก่อนเป็นโควิดด้วย ดังนั้นเมื่อเป็นโควิดแล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ว่าคุณจะโชคร้ายกลายเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะ long COVID หรือไม่
การวินิจฉัยว่าภาวะ long COVID ที่เป็นเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง
ต้องมีทั้งการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และวิธีอื่น ที่แพทย์เห็นควร เมื่อแพทย์พบความผิดปกติที่ใดก็จะรักษาตามภาวะที่เป็น ดังนั้นการรักษา long COVID อาจทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ให้ยาตามอาการ ถ้าคนไข้มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือถ้าความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็ต้องรักษาตามแนวทางของแต่ละโรค หรือหากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ก็ต้องใช้การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรงใหม่
และนอกจากจะรักษาทางกายแล้ว ก็ควรมีการเยียวยาดูแลจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย การเกิด long COVID มีสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลันทำให้อวัยวะเกิดความเสียหาย โรคประจำตัวที่เป็นมาก่อน ผลจากยาที่ได้รับ การอักเสบในร่างกาย ผลจากการตอบสนองเชื้อของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมถึงการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน และความเครียดความกังวลที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ดังนั้นการจะรักษา long COVID และทำให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงตามเดิมจึงต้องใช้เวลา และไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่าเป็น long COVID แล้ว เมื่อไรจึงจะหาย
สุดท้ายอยากจะฝากไว้ว่า ไม่มีวิธีใดที่จะป้องกัน long COVID ได้
นอกไปจากการป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโควิดตั้งแต่ต้น ดังนั้นวิธีการป้องกันตัวเองจากการรับเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว คือ การรับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือเป็นประจำ ใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกให้มิดชิด ยังคงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ใครที่อยู่ในสภาวะทิ้งตัว ลดการ์ดในการป้องกันตัวเอง
เพราะคิดว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่อ่อนกำลังลงแล้ว แม้ติดเชื้อก็ทำให้ป่วยไม่รุนแรงมาก และในที่สุดทุกคนก็ต้องติด อาจจะต้องลองคิดใหม่อีกครั้ง เพราะยังไงหากต้องเสี่ยงกับภาวะ long COVID ยังไงก็ไม่น่าลอง!
แนะนำสินค้าเกี่ยวกับบทความ