รู้จักประโยชน์ของวิตามินและอาหารเสริมกับหมอกี้

รู้จักประโยชน์ของวิตามินและอาหารเสริมกับหมอกี้  Top svita  ท็อปส์ วีต้ารู้จักประโยชน์ของวิตามินและอาหารเสริมกับหมอกี้  Top svita  ท็อปส์ วีต้า

รู้จักวิตามินและอาหารเสริมกับหมอกี้

 

จุดประสงค์ของการกินวิตามินหรืออาหารเสริมมีหลายอย่าง บางคนเชื่อว่าช่วยบำรุงสุขภาพ ชะลอวัย หรือบางคนต้องการกินเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย  คำถามที่คนส่วนใหญ่อยากรู้ ก็คือ วิตามินและอาหารเสริมช่วยอะไรได้บ้างแล้วช่วยได้จริงรึเปล่า

วันนี้หมอกี้เลยจะมาเล่าให้ฟังกันว่า ในปี 2022 นี้ เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับวิตามินและอาหารเสริมค่ะ

หมอจะพูดถึงวิตามินและอาหารเสริมที่คนนิยมรับประทาน โดยแบ่งตามจุดประสงค์



กลุ่มแรก เน้นการป้องกันโรค 

1.วิตามินดี

หนึ่งในวิตามินอันดับต้นๆ ที่คนทั่วไปนิยมรับประทานเสริมและมีงานวิจัยมากทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าร่างกายจะสามารถผลิตวิตามินดีได้จากแสงแดด แต่แสงแดดในช่วง 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่ผิวหนังผลิตวิตามินดีได้ดีนั้น กลับทำให้เราเสี่ยงต่อริ้วรอยเหี่ยวย่นและมะเร็งผิวหนัง หลายๆคนจึงหันมากินวิตามินดีเสริม โดยหน้าที่หลักของวิตามินดี คือ การช่วยดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ ส่งผลให้กระดูกและฟันแข็งแรง นอกจากนั้นนักวิจัยยังพบว่าวิตามินดีอาจมีประโยชน์ในกรณีโรคเรื้อรังบางชนิด แม้แต่ช่วงที่มีไวรัสโควิดระบาด นักวิจัยก็พบว่าการมีปริมาณวิตามินดีในเลือดที่สูงเพียงพอ มีอัตราการป่วยหนักจากโควิดน้อยกว่า แต่หากเป็นโควิดแล้วการกินวิตามินดีตามไม่ได้ช่วยให้อัตราการป่วยหนักลดลงค่ะ ปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 600 IU ในผู้ใหญ่ทั่วไป และ 800 IU ในผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป  แต่ไม่ควรกินเกิน 4000 IU เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ จะกินในรูปแบบวิตามิน D2 หรือ D3 ก็ได้ หมอกี้แนะนำ D3 เพราะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า และเพื่อให้ดูดซึมได้ดีควรรับประทานช่วงหลังอาหารที่มีไขมันร่วมด้วยค่ะ หากใครอยากรู้ลึกลงไปอีกว่ามีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำหรือไม่ ก็สามารถไปตรวจได้ตามโรงพยาบาลซึ่งควรมีค่าวิตามินดีในเลือดไม่ต่ำกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรค่ะ

2.Fish oil

หลังจากมีการศึกษาพบว่าคนที่รับประทานปลาเป็นประจำ มีอัตราการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองตีบต่ำกว่าปกติ ก็มีงานวิจัยมากมายตามมา ทีมแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน American heart association แนะนำให้คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงรับประทาน DHA กับ EPA รวมกัน 1 กรัมต่อวัน ทีมแพทย์หัวใจในยุโรป ก็มีคำแนะนำว่าการรับประทาน DHA กับ EPA 2-3 กรัมต่อวัน สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ถึง 30%  แต่สิ่งนึงที่คนไม่รู้คือ หากคุณรับประทานปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่าเป็นประจำ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ การกินน้ำมันปลาอาจจะไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มมากเหมือนคนที่ไม่ได้กินค่ะ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าปลาทะเลมีการปนเปื้อนของสารปรอทมากซึ่งเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง ทำให้ความนิยมกินน้ำมันปลาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพราะไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารปรอทในน้ำมันปลาค่ะ

น้ำมันปลาไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องของโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังอาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ช่วยเรื่องของการชะลอสมองเสื่อมหรือลดโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ลดโอกาสเกิดตาเสื่อมตามอายุ และอาจช่วยในเรื่องการปรับความสมดุลของอารมณ์ ลดอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า การรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ สามารถช่วยลดขนาดของยาแก้ปวดที่ต้องใช้ได้

หมอกี้ย้ำว่า ถ้าคุณเลือกกินน้ำมันปลาเสริม ต้องเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ เพื่อแน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารปรอท ให้ดูขนาด EPA+DHA เป็นหลัก ไม่แนะนำให้เลือกน้ำมันตับปลานะคะ เพราะมีวิตามินเอในปริมาณที่สูงอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ และหากใครคิดจะกินน้ำมันปลาเกิน 3 กรัมต่อวัน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงในเรื่องของเลือดออกง่ายกว่าปกติ และเรื่องของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ค่ะ

3.ไฟเบอร์ 

หลายๆคนคงนึกถึงเรื่องท้องผูก หรือการลดน้ำหนัก แต่ไฟเบอร์ยังมีประโยชน์อื่นที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ คือสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้อีกด้วยค่ะ งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าคนส่วนใหญ่รับประทานไฟเบอร์น้อยเกินไป  มีคำแนะนำปริมาณไฟเบอร์ที่ควรรับประทานต่อวัน ปกติผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ควรรับประทานไฟเบอร์อย่างน้อย 38 กรัมต่อวัน หรือ 30 กรัมต่อวันถ้าอายุมากกว่า 50 ปี  ส่วนเพศหญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ควรรับประทานไฟเบอร์อย่างน้อย 25 กรัมต่อวันหรือ 21 กรัมต่อวันเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี แนะนำให้เลือกไฟเบอร์จากอาหารเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ก่อนเสมอ และอาจใช้อาหารเสริมเพื่อให้ถึงเป้าหมายไฟเบอร์ที่ต้องการประจำวัน โดย psyllium และ betaglucan เป็นไฟเบอร์ที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่ามีประโยชน์ในการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดหากรับประทาน 3-10 กรัมต่อวัน ที่ต้องระวังคือ บางคนอาจมีปัญหาท้องอืดหรือลมในท้องหลังจากกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แนะนำให้เริ่มปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆเพิ่มทุกๆ 2-4 สัปดาห์เพื่อให้จุลินทรีย์ในลำไส้คุ้นเคย ที่สำคัญคือควรขยับตัวบ่อยๆ และดื่มน้ำมากๆ 1.5 ลิตรต่อวัน เพราะไฟเบอร์จะนิ่มและทำงานได้ดีเมื่อมีน้ำในลำไส้ค่ะ

4. B complex

เป็นที่นิยมหลังจากที่มีงานวิจัยพบว่าปริมาณ Homocysteine ที่สูงในเลือดเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และวิตามิน B6 B12 และโฟเลต สามารถลดระดับ Homocysteine ในเลือดได้ แต่เมื่อมีงานวิจัยที่ละเอียดขึ้นกลับพบว่าวิตามินบีคอมเพล็กซ์มีประโยขน์ช่วยป้องกันเรื่องโรคหัวใจและอัมพาตจากเส้นเลือดในสมองตีบได้เฉพาะคนที่มีปัญหาที่ทำให้ Homocysteine สูงแต่กำเนิดเท่านั้น

กลุ่มคนที่ควรรับประทานวิตามินบี 12 เสริม คือ กลุ่มคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือวีแกน  เพราะวิตามินบี 12 พบแค่ในอาหารจากสัตว์เท่านั้น และกลุ่มคนสูงอายุที่มักมีปัญหาหลายๆอย่าง ทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ลดลง จึงเกิดการขาดวิตามินบี 12 ได้ง่าย โดยทั่วไปปริมาณวิตามินบี 12 ที่ควรรับประทานต่อวันอยู่ที่ 2.4 mcg  ปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับวิตามินบี 12 ที่เราเห็นอยู่ตามขวดอาหารเสริมทั่วๆไปที่มักมีขนาด 500 – 1000 mcg นั่นก็เป็นเพราะว่าร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 จากอาหารเสริมได้ไม่ดีนัก เพียง 1 % ของขนาดตั้งต้นนั่นเอง

โฟเลตเป็นวิตามินที่สำคัญมากตัวหนึ่ง จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดและมีบทบาทต่อการสร้างและซ่อมแซม DNA แม้ว่าโฟเลตจะมีมากมายในผักใบเขียว ผลไม้ และเนื้อสัตว์ แต่ก็มีข้อมูลวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่กินโฟเลตต่ำกว่าที่ควร  ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงที่สุดในช่วงตั้งครรภ์เพราะจะทำให้เกิดปัญหาหลอดประสาทไม่ปิด neural tube defect ได้ แพทย์มักแนะนำให้หญิงเตรียมตั้งครรภ์รับประทานเสริมในขนาด 800 mcgต่อวัน โดยเริ่มตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด โดยควรรับประทานร่วมกับวิตามินบี 12 เพื่อให้เกิดความสมดุลของการสร้างสารพันธุกรรมด้วย โฟเลตยังสำคัญมากในวัยเจริญพันธุ์ทั้งชายและหญิงเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นหมัน  นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับระดับโฟเลตต่ำ และพบว่าการเสริมโฟเลตมีผลต่อ Noradrenaline receptor และ Serotonin receptor ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โฟเลตสามารถลดอาการซึมเศร้าได้

แม้ว่าโฟเลตจะดูมีประโยชน์หลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องของการปกป้องเซลล์ไม่ให้เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง แต่ปริมาณโฟเลตที่สูงเกินเป็นเวลานานกลับช่วยกระตุ้นเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว จนอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

5.มัลติวิตามิน  

เป็นวิตามินเสริมที่คนนิยมมาก เพราะรู้สึกว่าง่าย สะดวก แค่ 1 เม็ดก็ได้ครบ บางผลิตภัณฑ์มีแร่ธาตุเสริมอีกด้วย ทำให้ถูกใจคนรักสบายแบบเราๆ ถึงแม้ว่าแท้จริงแล้วยังไม่มีงานวิจัยตัวใดเลยที่สนับสนุนว่ามัลติวิตามินสามารถป้องกันในเรื่องของโรคหัวใจหรือโรคมะเร็งได้ คนส่วนใหญ่ก็ยังซื้อกินและมักจะคิดว่า เผื่อไว้ก่อนดีกว่า สิ่งหนึ่งที่หมอคิดร่วมด้วยเสมอก่อนที่จะแนะนำอาหารเสริมหรือยาให้ญาติๆหรือคนไข้ก็คือ โทษที่อาจจะเกิดขึ้นจากอาหารเสริมหรือยานั้นๆ แล้วมัลติวิตามินมันมีโทษรึเปล่านะ มีหลายๆงานวิจัยค่ะที่พยายามจะศึกษาข้อมูลนี้ บางงานวิจัยพบว่าอาจจะมีเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ท้ายที่สุดถึงปี 2022 นี้ ก็ยังไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าการรรับประทานมัลติวิตามินเป็นประจำทำให้เกิดโทษค่ะ

สำหรับมัลติวิตามินแล้ว สรุปว่า ประโยชน์ยังไม่ชัด โทษยังไม่มีค่ะ

6.วิตามินต้านอนุมูลอิสระ A C E และเบตาแคโรทีน   

เป็นที่นิยมกันมานานตั้งแต่ต้นๆปี 1980 น่าเสียดายว่าหลายๆ งานวิจัยไม่สามารถแสดงประโยชน์ของวิตามินกลุ่มนี้โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่ไม่เพียงแค่นั้นค่ะ งานวิจัยในช่วงหลังกลับแสดงให้เห็นว่า การรับประทานวิตามิน A เสริมในขนาดสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักและการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนเบตาแคโรทีนก็ไม่ควรรับประทานเสริมในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ เพราะมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดที่เพิ่มมากขึ้น ตัวสุดท้ายที่ต้องระวังคือวิตามิน E เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากแม้บริโภคปริมาณ 150 ยูนิตต่อวัน และไม่ควรบริโภคเกิน 400 ยูนิตต่อวันเพราะเพิ่มอัตราตายโดยรวมค่ะ 

ดังนั้น ไม่ควรบริโภควิตามินต้านอนุมูลอิสระเสริมเป็นระยะเวลายาว ยกเว้น ในคนที่มีภาวะสายตาเสื่อมตามอายุ age-related macular degeneration (AMD) ที่พบว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระร่วมกับ Zinc ช่วยชะลอการเสื่อมได้ แต่แค่ชะลอนะคะ ถ้าสายตาเสื่อมไปแล้วจะไม่กลับมาดีขึ้นค่ะ

7.แคลเซียม  

หลายๆคนนิยมรับประทานแคลเซียมร่วมกับวิตามินดี  เพราะวิตามินดีจะไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เลยถ้าไม่มีแคลเซียมค่ะ แต่หมอไม่ได้คิดว่าคนปกติควรจะกินแคลเซียมเสริมนะคะ แคลเซียมมีมากในอาหารหลายชนิด และมีหลายๆงานวิจัยชี้ว่าคนปกติได้รับแคลเซียมเพียงพอจากการรับประทานอาหารค่ะ เฉพาะในกลุ่มคนที่จำกัดอาหาร เลือกกิน มีปัญหาแพ้น้ำตาลแลกโตส หรือมีปัญหาเรื่องการดูดซึม รวมไปถึงวัยสูงอายุที่มีความต้องการอาหารลดลง ทำให้เกิดการขาดแคลเซียมได้ ในกลุ่มนี้อาจรับประทานแคลเซียมเสริมในปริมาณน้อยๆ 300- 500 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะปัจจุบันพบว่าปริมาณแคลเซียมที่มากเกินไปจะมีผลต่อเส้นเลือด อาจนำมาซึ่งปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบได้ และในเพศชายไม่ควรรับประทานแคลเซียมรวมจากอาหารและอาหารเสริมสูงเกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งอยู่ที่ 1000 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่ และ 1200 มิลลิกรัมต่อวันในผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปค่ะ เพราะมีบางงานวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณแคลเซียมที่สูงกับมะเร็งต่อมลูกหมากค่ะ


กลุ่มสอง เน้นการรักษาโรค

1.แปะก๊วย 

เป็นพืชที่มีชีวิตมานานกว่า 270 ล้านปี และมีคนนิยมรับประทานมากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะประโยชน์ในการกำจัดสารอนุมูลอิสระและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ในยุโรปจึงได้มีการนำใบแปะก๊วยสกัดที่มีความเข้มข้นสูงมาใช้ในการรักษาภาวะหลงลืมหรือโรคสมองเสื่อมระยะต้นในผู้สูงอายุ โดยให้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์  หากอาการหลงลืมยังแย่ลงก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินแปะก๊วยต่อค่ะ แม้จะไม่พบว่าแปะก๊วยทำให้เลือดออกเพิ่มขึ้นในผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด แต่ส่วนใหญ่แพทย์ก็ไม่แนะนำให้รับประทานแปะก๊วยในกลุ่มคนที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดนะคะ  ที่สำคัญอีกอย่างคือไม่ควรเก็บแปะก๊วยไว้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาค่ะ

2.เมลาโทนิน 

เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตได้เองอยู่แล้วโดยมีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาของร่างกายให้รู้จักกลางวันกลางคืนและเหนี่ยวนำร่างกายให้เกิดการหลับลึกได้  ปกติเมลาโทนินจะหยุดหลั่งหรือหลั่งน้อยเมื่อมีแสง ทำให้คนที่ทำงานกับแสงหรืออยู่กับหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์เวลากลางคืน อาจมีปัญหานอนหลับยาก  เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตเมลาโทนินลดลง ทำให้ผู้สูงอายุนอนน้อยลงและมีปัญหานอนไม่หลับ  หรือคนที่ต้องเดินทางไกลมีการเปลี่ยนโซนเวลา ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนตัวนี้ลดลงเช่นกัน  แพทย์ในยุโรปนิยมใช้เมลาโทนินรักษาอาการนอนไม่หลับเบื้องต้นเพราะไม่มีปัญหาเรื่องการติดยาเหมือนยานอนหลับตัวอื่นๆ โดยเห็นผลดีที่สุดในกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป และให้รับประทาน 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพื่อการออกฤทธิ์ที่ดีที่สุด การเริ่มเมลาโทนิน ควรเริ่มในปริมาณน้อยก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขนาดในวันถัดไป เพื่อไม่ให้เกิดอาการง่วงค้างหรือฝันร้าย  โดยทั่วไปนิยมรับประทานในขนาด 1-2 มิลลิกรัม และควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 สัปดาห์เพื่อปรับสมดุลนาฬิกาของร่างกาย อาจใช้ได้นานถึง 3 เดือนแต่ไม่ควรนานกว่านั้น บางคนอาจรับประทานขนาดสูงถึง 5 มิลลิกรัม แต่ไม่แนะนำให้ทุกคนทำนะคะ เพราะมีการศึกษาพบว่า เมลาโทนินขนาด 5 มิลลิกรัมไม่ได้ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น แต่กลับพบผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ มึนงง หงุดหงิดมากขึ้นค่ะ  มีคน 2 กลุ่มที่หมอไม่แนะนำให้ทดลองเมลาโทนิน คือ กลุ่มคนที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะเมลาโทนินอาจทำให้อาการแย่ลง และกลุ่มที่เป็นออโตอิมมูนหรือรับประทานยากดภูมิ เนื่องจากเมลาโทนินมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิต้านทานได้นั่นเอง

3.St John’s Wort

เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่โด่งดังมากในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากมีฤทธิ์รักษาอาการซึมเศร้าอ่อนๆ ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และลดอาการวิตกกังวลได้ นอกจากนั้นหญิงวัยทองยังนิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ แก้อาการหงุดหงิด และช่วยกระตุ้นให้ความรู้สึกทางเพศดีขึ้นอีกด้วย เวลาซื้อให้สังเกตสารออกฤทธิ์ hypericin ที่ 0.3% และปกติใช้ขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 3-6 เดือน เนื่องจากสมุนไพรตัวนี้มีปฏิกิริยากับยาหลายตัว ดังนั้น หากคุณรับประทานยาใดเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ  และแนะนำให้หลีกเลี่ยงแดดจัดหรือทายากันแดดด้วยเสมอ เพราะในบางคนอาจเกิดอาการผิวหนังไวต่อแสงเพิ่มขึ้นค่ะ หมอไม่แนะนำสมุนไพรตัวนี้ในคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์และคนที่มีอาการซึมเศร้าตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปควรไปพบแพทย์มากกว่าค่ะ

4.ข้าวยีสต์แดง

เป็นอีกหนึ่งอาหารเสริมที่มีการกล่าวถึงกันมากในกลุ่มแพทย์โรคหัวใจ เพราะพบว่ามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้จริง จนมีการศึกษาไขความลับว่าเจ้ายีสต์แดงนี้มีสาร Monacolin K ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ลดไขมันตัวเดียวกันที่มีในยา Lovastatin  นั่นเอง  FDA สหรัฐจึงได้กำหนดให้มีสารออกฤทธิ์ Monacolin K ในอาหารเสริมข้าวยีสต์แดงได้ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ต้องระวังคือ หากใครที่กินยาลดคอเลสเตอรอลในกลุ่ม Statin หรือมีปัญหาเรื่องตับอยู่แล้ว ไม่ควรกินข้าวยีสต์แดงเสริมค่ะเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือตับอักเสบตามมาได้ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานได้รับการรับรองจากอย. เท่านั้น เนื่องจากว่าข้าวยีสต์แดงที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจมีสารปนเปื้อน Citrinin ทำให้เกิดปัญหาไตวายตามมาได้ค่ะ

5.Glucosamine and Chondroitin

เป็นอาหารเสริมในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่โด่งดัง ซึ่งให้ผลดีที่สุดในการรักษากลุ่มข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง การรับประทานกลูโคซามีน 1500 มิลลิกรัม ต่อเนื่องกัน 3 ปี พบว่าลดอาการปวดเข่าและช่วยลดความแคบของข้อเข่า ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าข้อเข้าเสื่อมได้  งานวิจัยช่วงหลังพบว่าการเสริมคอนดรอยตินเข้าไปร่วมกับกลูโคซามีนจะส่งผลดีต่อการรักษามากขึ้น การใช้กลูโคซามีนในระยะสั้นๆ เช่น 3-6 เดือน อาจได้ผลดีเฉพาะในบางคนเท่านั้น กลูโคซามีนที่นิยมใช้มากที่สุดคือกลูโคซามีนซัลเฟต มีราคาถูก และออกฤทธิ์ได้ดีเหมือนกลูโคซามีนรูปแบบอื่น ปกตินิยมรับประทาน 500 มิลลิกรัม 3 ครั้งหลังอาหาร เพื่อลดอาการจุกเสียดท้องที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ไม่แนะนำการรับประทานอาหารเสริมกลูโคซามีนในคนที่มีประวัติแพ้อาหารทะเลและในคนที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อหินค่ะ 

6.วิตามินบี 3 

Niacin สามารถลดคอเลสเตอรอล LDL ได้ แต่ต้องใช้ขนาด 25-150 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งปริมาณวิตามินบี 3 ที่สูงมากทำให้เกิดผลข้างเคียง ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบ คันตามตัว บางคนอาจมีนกเขาไม่ขัน หรือเกิดตับอักเสบได้  หากใครที่กินยาลดไขมันในเส้นเลือดกลุ่ม Statin อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องกินวิตามินบี 3 เพิ่ม  เพราะไม่สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลให้ต่ำลงได้อีกค่ะ


สุดท้ายที่หมอกี้อยากย้ำคือ วิตามินและอาหารเสริม จะไม่ช่วยอะไรมากหากเราขาดอาหารหลักนะคะ ดังนั้น การกินอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ และดูแลสุขภาพพื้นฐานด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ 


โปรโมชั่นพิเศษท็อปส์ วีต้า

คูปอง
แบบประเมินสุขภาพ

วิตามินและอาหารเสริมขายดี