

เคล็ดลับหน้าเด็กตลอดกาล
ผิวเสื่อมสภาพเป็นสภาวะธรรมชาติที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย ปัจจัยภายในเกิดจากการเสี่อมสภาพของร่ายกายซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งการเสื่อมสภาพจากภายในร่างกายยังสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรมอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยภายนอกร่างกายสัมพันธ์กับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ มลภาวะ ควันบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การเผชิญกับแสงแดดจัด และสุขภาพโดยรวมของร่างกาย
นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกยังสามารถกระตุ้นปัจจัยภายในให้เกิดความชรามากขึ้น โดยทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ไกลเคชัน (ภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดทำปฏิกิริยากับโปรตีนในผิว) และจากการอักเสบภายในร่างกาย แต่ในปัจจุบันได้มีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยชะลอผิวเสื่อมสภาพ ทั้งด้านเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ชนิดทา รับประทานและฉีดเข้าร่างกาย ซึ่งแพทย์ผิวหนังได้มีการแนะนำถึงวิธีการและรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1.หลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผิวเสื่อมสภาพ
เนื่องจากสิ่งแวดล้อมส่งผลอย่างมากต่อการเสื่อมสภาพของผิวหนังและมักจะสัมพันธ์กับวิถีในการใช้ชีวิต การสัมผัสกับรังสียูวีเป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวเสื่อมสภาพมากที่สุด โดยจะทำให้คอลลาเจนลดลงและเสื่อมสภาพ อีกทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันบุหรี่ที่ปะปนอยู่ในอากาศมีผลเสียอย่างมากต่อสภาพผิวเช่นกัน นอกจากการหลีกเลี่ยงรังสียูวีและฝุ่นละอองแล้ว ควรมีการสร้างนิสัยในการดูแลสุขภาวะทางร่างกายอยู่เสมอซึ่งจะส่งผลต่อการมีผิวพรรณที่ดี ได้แก่ การลดความเครียด การทาครีมกันแดด การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำและนอนหลับให้เพียงพอ การเสริมสร้างนิสัยการมีสุขภาวะทางร่างกายที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้มีผิวพรรณที่สวยสดใสจากภายในสู่ภายนอก
2.การใช้เครื่องสำอางที่ช่วยชะลอวัย
ผิวชั้นนอกสุดเปรียบเสมือนเกราะที่ช่วยปกป้องผิวไม่ให้เชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม รังสียูวีเข้าสู่ร่างกายและช่วยปกป้องไม่ให้น้ำในผิวระเหยออกไป ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอยได้ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน ซี อี บี3 และเอ สามารถส่งเสริมการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบที่เกิดจากอนุมูลอิสระ โดยแทรกซึมเข้าไปในชั้นผิวและช่วยซ่อมแซมบริเวณที่เสื่อมสภาพได้
2.1 วิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก
วิตามินซีชนิดทาในความเข้มข้น 5-15% มีฤทธิ์ในการต้านการเสื่อมสภาพของผิว โดยกระตุ้นการสร้างและลดการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิว
2.2 วิตามินอี (อัลฟ่า-โทโคฟีรัล)
การทาเครื่องสำอางที่มีวิตามินอี 2-20% จะสามารถลดการอักเสบที่เกิดในชั้นผิวได้ และหากใช้ร่วมกับวิตามินซี จะช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าการทาวิตามินซีหรืออีเพียงชนิดเดียว
2.3 วิตามินบี 3 (ไนอะไซนาไมด์)
ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ผิวหนังให้เป็นปกติ และช่วยเพิ่มเซราไมด์ กรดไขมันซึ่งเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างผิวหนังที่แข็งแรง การทาวิตามินบี 3 ความเข้มข้น 5% เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนสามารถชะลอการเกิดริ้วรอย เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนังและลดจุดด่างดำได้
2.4 วิตามินเอ (เรตินอล) และอนุพันธ์ของวิตามินเอ (เรตินาลดิไฮด์และเตรติโนอิน)
มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระและยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของผิวหนัง วิตามินเอรูปแบบเรตินอลพบได้มากที่สุดในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเนื่องจากมีความระคายเคืองน้อยกว่าเตรติโนอินซึ่งเป็นยา โดยเตรติโนอินชนิดทาผิวหนัง ความเข้มข้น 0.05% สามารถลดริ้วรอยที่เกิดจากแสงแดด เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนังและลดจุดด่างดำได้ดี แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาชนิดนี้เนื่องจากอาจเกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนังได้ และสตรีมีครรภ์ควรหลี่กเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้
3.การทำหัตถการทางการแพทย์
เป้าหมายหลักของการทำหัตถการทางการแพทย์ คือ เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของผิวชั้นนอกสุด โดยการทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพ เสริมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน วิธีการที่ได้รับความนิยมได้แก่ การผลัดเซลล์ผิวหนัง การใช้เลเซอร์ การใช้ฟิลเลอร์ การฉีดเกล็ดเลือดเข้าผิวหนัง และการใช้โบท็อกซ์
3.1 การผลัดเซลล์ผิวหนัง
จะสามารถกระตุ้นการสร้างชั้นผิวใหม่จากการซ่อมแซมหลักจากการผลัดเซลล์ผิวหนังโดยทั่วไปจะมีการผลัดเซลล์ผิวหนังอยู่ 3 ประเภท ตามความลึกของระดับชั้นผิว ได้แก่ การผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุด ในชั้นนี้จะมีการใช้ กรดอัลฟาหรือเบต้าไฮดรอกซีแอซิด (เอเอชเอ หรือ บีเอชเอ) และกรดไตรคลอโรอซิติกแอซิด ความเข้มข้น 10-30% การผลัดเซลล์ผิวชั้นกลาง จะมีการใช้กรดไตรคลอโรอซิติกแอซิดในความเข้มข้นที่สูงขึ้น (50%) และการผลัดเซลล์ผิวในชั้นลึกคือ ใช้กรดไตรคลอโรอซิติกแอซิดความเข้มข้นมากกว่า 50% ข้อดีของการผลัดเซลล์ผิวหนังโดยใช้กรดคือ จะทำให้ผิวเรียบเนียน กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดริ้วรอย แต่ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากกรดที่ผิวหนังได้
3.2 การผลัดเซลล์ผิวหนัง
เลเซอร์สามารถทะลุเข้าไปในชั้นต่างๆของผิวหนังได้ตามความถี่และชนิดของเลเซอร์ที่ใช้ โดยชนิดของเลเซอร์ยังสัมพันธ์กับสภาพปัญหาของผิวหนังในชั้นต่างๆ เลเซอร์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เลเซอร์ที่ทำและไม่ทำให้ผิวลอก และแฟรคชันนัลเลซอร์ เลเซอร์ที่ทำให้ผิวลอก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ยาคส์ มีการนำมาใช้เพื่อลดจุดด่างดำที่เกิดจากความชรา เลเซอร์ที่ไม่ทำให้ผิวลอก ได้แก่ ไอพีแอล ไดโอด เลเซอร์ชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผิวชั้นหนังแท้ และ แฟรคชันนัลเลเซอร์เป็นนวัตกรรมที่มีการรวมกันของเลเซอร์ทั้งสองชนิดข้างต้นเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มกระสร้างคอลลาเจนและลดอาการระคายเคืองจากการทำหัตถการ
3.3 การใช้ฟิลเลอร์
กรดไฮยารูลอนิคเป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในร่ากาย การฉีดกรดไฮยารูลอนิคเข้าสู่ผิวหนัง ถือเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพื่อผิวพรรณที่ดูอ่อนเยาว์ โดยกรดไฮยารูลอนิคช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น กระตุ้นการทำงานของเซลล์ผิวหนัง ลดการอักเสบ อีกทั้งยังเกิดอาการข้างเคียงต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้น้อย โดยส่วนมากกรดไฮยารูลอนิคจะมีฤทธิ์อยู่ในผิวประมาณ 3-12 เดือน
3.4 การฉีดผิวหนังด้วยเกล็ดเลือด
การฉีดเกล็ดเลือดที่ได้จากการสกัดจากเลือดนั้นมีส่วนประกอบของสารที่ช่วยควบคุมสมดุลของเซลล์ผิวหนังและมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
3.5 การฉีดโบท็อกซ์
โบท็อกซ์เป็นสารที่สกัดได้จากแบคทีเรียแกรมบวกสกุล Clostridium botulinum โดยสารนี้จะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว โดยทั่วไปแล้วการฉีดโบท็อกซ์จะสามารถลดการริ้วรอยที่เกิดจากการเคลื่อนไหวใบหน้าได้
4.การใช้ฮอร์โมนทดแทน
เมื่อเข้าสู่วัยเลข 3 มีการลดลงของการสร้างฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งได้แก่ โกรธฮอร์โมน(GH) อินซูลิน ไลค์ โกรธ แฟคเตอร์-วัน เมลาโทนิน ไทรอยด์ ไดไฮโดรอิพิแอนโดรสเตอร์โรน (ดีเอชอีเอ) เอสโตรเจนและเทสโทเทอโรน การลดลงของฮอร์โมนจะสัมพันธ์กับอาการแสดงต่างๆ ซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิตและสุขภาวะทางร่างกายและส่งผลต่อสภาพผิวหนังโดยตรง ฮอร์โมนที่มักได้รับการทดแทนในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนต่ำ มีดังนี้
4.1 ไดไฮโดรอิพิแอนโดรสเตอร์โรน (ดีเอชอีเอ)
มีการศึกษาการได้รับฮอร์โมนดีเอชอีเอ ในผู้หญิง ปริมาณ 50 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 1 ปี อายุ 60-79 ปี พบว่า สามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ลักษณะของผิวพรรณที่ดีและมวลกระดูกได้
4.2 เมลาโทนิน
เนื่องจากอายุที่มากขึ้นหรือการนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน การเสริมฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยเสริมฤทธิ์การชะลอวัยเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะทางร่างกายและยังมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนัก
4.3 เทสโทสเตอโรน
การเสริมฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายสูงอายุ จะทำให้บรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง ลดภาวะซึมเศร้า ดื้ออินซูลินและกระดูกพรุนได้
4.4 เอสโตรเจน
การเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนในขนาดต่ำในผู้หญิงสูงวัยจะช่วยรักษาภาวะกระดูกพรุนและช่วยชะลอวัยโดยรวมได้ อย่างไรก็ตามการเสริมฮอร์โมนมีผลต่อต่อระบบโดยรวมของร่างกาย จึงต้องมีการปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อให้ได้รับชนิดฮอร์โมนที่เหมาะสมและได้รับผลลัพธ์ในการชะลอวัย