

จากสถิติจากมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 800,000 คน และตัวเลขมีแนวโน้มสูงมากขึ้นปีละ 30,000 คน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประกาศตามหาผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์เดินหายออกไปจากบ้านหรือการดูแลของลูกหลานจึงมีให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ
โรคอัลไซเมอร์คืออะไร?
ก่อนจะทำความรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์ อยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมก่อน เพราะภาวะสมองเสื่อมคือกลุ่มอาการของความผิดปกติในสมองซึ่งเป็นร่มใหญ่ของโรคอีกหลายชนิด และอย่างที่เรารู้กันว่าสมองไม่ใช่อวัยวะชิ้นเดียวแต่ประกอบไปด้วยหลายส่วน แต่ละส่วนแต่ละตำแหน่งทำหน้าที่ควบคุมร่างกายอวัยวะ ความคิด ความจำและทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสมองส่วนไหนเสื่อม การทำงานของสมองส่วนนั้นก็จะเสียไป การเสื่อมของสมองแต่ละส่วนจึงแสดงออกทางกายได้หลากหลายอาการ
ภาวะสมองเสื่อมแบ่งเป็น 2 ประเภท
คือประเภทที่รักษาให้หายขาดได้ พบได้ประมาณ 20% เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง ขณะที่ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาดพบถึง 80% โดยที่พบมากที่สุดคือโรคอัลไซเมอร์คิดเป็น 60-70% จากประชากรโลกทั้งหมดที่มีภาวะสมองเสื่อมจำนวน 50 ล้านคน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ชื่อของโรคอัลไซเมอร์จึงคุ้นหูคุ้นตาและเป็นธรรมดาที่จะมีคนที่เรารู้จักที่เป็นโรคนี้อยู่รอบตัว
อัลไซเมอร์คือโรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวกับการเสื่อมของสมองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงวัย แต่อัลไซเมอร์ไม่ได้เกิดจากความชราเพียงปัจจัยเดียว หรืออธิบายได้อีกอย่างว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอัลไซเมอร์เมื่อมีอายุมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าต้นเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดจากอะไร แต่เชื่อกันว่าเป็นเพราะหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งประวัติครอบครัว ไลฟ์สไตล์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองทีละเล็กทีละน้อย กว่าอาการของโรคจะแสดงออกอย่างชัดเจน สมองก็มีความเสื่อมเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานนับปีแล้ว โดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความจำ
ความเสื่อมของโครงสร้างหรือการทำงานของสมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ใม่ใช่ความเสื่อมตามอายุ แต่เกิดจากโปรตีน 2 ชนิดที่มีชื่อว่า เบต้าอะไมลอยด์ (beta-amyloid) และทาว (tau) ซึ่งไปจับกับเซลล์สมองทำให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง สารสื่อประสาทอะเซทีลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งมีผลต่อความทรงจำโดยตรงลดลง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์เสียหาย ความเสื่อมนี้เริ่มต้นที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่จดจำข้อมูลใหม่ ๆ ดังนั้นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะเริ่มลืมในเรื่องที่ใช้ความจำระยะสั้นก่อน จากนั้นความเสื่อมของสมองจึงกระจายกว้างออกไปยังส่วนอื่น ๆ ทำให้นอกจากความจำถดถอยลงแล้ว พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิด การใช้ภาษา และทักษะทางสังคมก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ยิ่งนานวันผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อย ๆ
10 สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์
เมื่อทราบแล้วว่าอาการของโรคจะแสดงให้เห็นหลังจกสมองเกิดความเสียหายไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ลูกหลานจึงต้องหมั่นสังเกตหากพบว่าญาติผู้ใหญ่มีอาการที่เข้าข่ายอัลไซเมอร์ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียด เพราะหากญาติผู้ใหญ่เป็นอัลไซเมอร์จริง ถึงแม้จะไม่สามารถรักษาได้ แต่ในปัจจุบันมียาที่ช่วยชะลอโรคได้ ควบคุมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยได้ นอกจากนั้นคำแนะนำจากแพทย์จะช่วยให้ทั้งญาติดูแลผู้ป่วยได้อย่างเข้าใจและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สัญญาณ 10 ข้อที่ควรมองหา คือ
1.ลืมในเรื่องที่กระทบกับชีวิตประจำวัน
การลืมลักษณะนี้เป็นอาการเริ่มแรกของโรค เช่น ลืมวัน ลืมนัดหรือลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ถามคำถามเดิมซ้ำไปซ้ำมาเพราะจำไม่ได้ว่าถามไปแล้ว และต้องให้คนรอบข้างเตือนความจำหรือใช้อุปกรณ์เตือนความจำมากขึ้นในเรื่องที่เคยจัดการด้วยตัวเองได้
2.การวางแผนหรือแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องยากขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเลข ผู้ป่วยอาจจะพบอุปสรรคในการทำกับข้าวเมนูที่เคยทำประจำ ลืมจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าสาธารณูปโภคที่เคยจ่ายทุกเดือน สมาธิแย่ลงและใช้เวลามากขึ้นกับกิจกรรมเดิมที่เคยทำ
3.มีปัญหากับกิจวัตรประจำวัน
เช่น การขับรถไปสถานที่เดิม ๆ การซื้อของเข้าบ้านประจำสัปดาห์ หรือกฎกติกาที่เคยรู้กลายเป็นเรื่องที่จำหรือทำได้ยากขึ้น
4.หลงลืมวันเวลาหรือสถานที่
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะหลงลืมวัน เวลา ฤดูกาล จึงไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งนั้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในเวลาที่ตัวเองคาดคิด บางครั้งก็จะไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร
5.มีปัญหาในการทำความเข้าใจกับภาพที่มองเห็นและมิติสัมพันธ์
ในผู้ป่วยบางคนจะพบปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น กะระยะไม่ได้ มีปัญหากับสีและการตัดกันของสี ทำให้ไม่สามารถขับรถได้
6.มีปัญหาการสื่อสาร
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาในการพูดหรือการเขียน สังเกตได้จากพูดแล้วหยุดกลางประโยคหรือพูดซ้ำเดิมเพราะนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร และเรียกชื่อสิ่งที่คุ้นเคยผิดพลาดบ่อย
7.ทำของหายหรือไว้ของผิดที่แล้วหาไม่เจอ
จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน หรือลืมของในตำแหน่งที่ไม่น่าลืม ข้อนี้คุณผู้อ่านอ่านแล้วอาจจะคิดว่าฉันก็เป็น แต่ในที่สุดคุณจะหาสิ่งนั้นเจอใช่ไหมคะ แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์เขาจะลืมไปเลยว่าเอาของไปไว้ที่ไหน และอาจเกิดร่วมกับการหลงผิดว่ามีคนขโมยไป
8.ความสามารถในการตัดสินใจหรือตีความแย่ลง
ทำให้ตัดสินอะไรผิดพลาดมากขึ้น เช่น ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องเกี่ยวกับเงินทอง หรือไม่สามารถดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้ดังเดิม
9.หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
เมื่อผู้ป่วยรู้สึกว่าการพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องยาก พาลทำให้ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากคุยกับใครเพราะเสียความมั่นใจนั่นเอง
10.อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
อาการที่เกิดจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่มีอาการซึมเศร้า เฉื่อยชา ไม่อยากเข้าสังคม อารมณ์แปรปรวน ขาดความเชื่อใจคนอื่น หงุดหงิดก้าวร้าว นอนหลับผิดปกติ เดินงุ่นง่านไปมา ไม่สามารถยับยั้งใจได้ มีความเชื่อที่หลงผิด เช่น คิดว่าคู่สมรสนอกใจ มีคนขโมยของไป มีคนมาหา
อัลไซเมอร์ป้องกันได้ไหม
อ่านรายละเอียดของโรคอัลไซเมอร์มาถึงบรรทัดนี้คุณผู้อ่านคงจะนึกกลัวและสงสัยว่ามีวิธีการไหนบ้างหรือไม่ที่จะป้องกันตัวเองและคนที่เรารักจากโรคร้ายในบั้นปลายชีวิตโรคนี้ โรคอัลไซเมอร์แท้จริงแล้วเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่เราทุกคนสามารถลดความเสี่ยงในเป็นโรคนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตัวเองและหัวใจให้ดี ที่เขียน ถึง “หัวใจ” นี่ไม่ได้เขียนผิดนะคะ เพราะงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์พบว่าคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอัลไซเมอร์ ดังนั้นการดูแลหัวใจตัวเองด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพ ควบคุมความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้สมองบ่อย ๆ ด้วยการพบปะผู้คน เข้าสังคม ร้องเพลง อ่านหนังสือ เต้น เล่นเกมส์กระดาน ทำศิลปะ หรือเล่นดนตรี กิจกรรมใดก็ได้ที่คุณชอบและทำให้สมองได้ออกกำลังกายก็จะเป็นการป้องกันอัลไซเมอร์ได้
ส่วนในเรื่องอาหารการกิน มีหลักฐานจากวิจัยว่าวิตามินที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระนั่นคือ วิตามินเอ บี ซี ดี และอีช่วยชะลอการดำเนินของโรคและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นการรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเหล่านี้จึงมีประโยชน์ทั้งในแง่การป้องกันและช่วยชะลอโรค ส่วนการรับประทานวิตามินในรูปอาหารเสริมยังไม่มีข้อสรุปและแนวทางการใช้ที่ชัดเจนร่วมกันในระดับนานาชาติ